วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563

2. ระบบเศรษฐกิจ

บทที่ 2

ระบบเศรษฐกิจ
พิพัฒน์ คุณวงค์

           การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และสามารถสนองความต้องการผู้บริโภคได้สูงสุด ผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ เราเรียกว่า หน่วยเศรษฐกิจ  หน่วยเศรษฐกิจเล็ก ๆ หลายหน่วยเหล่านี้ มีความสัมพันธ์กันและเข้ามารวมกันเป็นกลุ่มของสถาบันทางเศรษฐกิจ ที่มีกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติคล้ายกัน เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจ

1. ประเภทของหน่วยเศรษฐกิจ

          ในระบบเศรษฐกิจจะประกอบด้วยหน่วยเศรษฐกิจที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกัน ซึ่งถ้าพิจารณาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แต่ละหน่วยเกี่ยวข้อง สามารถแบ่งได้ 3 หน่วยเศรษฐกิจ คือ หน่วยครัวเรือน หน่วยธุรกิจ และหน่วยรัฐบาล
          1.1 หน่วยครัวเรือน เป็นหน่วยเศรษฐกิจที่มีเพียงคนเดียว หรือหลายคน ร่วมกันตัดสินใจใช้ทรัพยากร เช่น เงิน ทรัพย์สิน แรงงาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมาชิกในครัวเรือนอาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แรงงาน หรือผู้ประกอบการก็ได้  ครัวเรือนจะทำหน้าที่สำคัญ 2 ประการคือ 1) เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตให้แก่หน่วยธุรกิจ และ 2) เป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการ โดยเป้าหมายหลักของหน่วยครัวเรือนคือ การแสวงหาความพอใจสูงสุด
          1.2 หน่วยธุรกิจ เป็นหน่วยเศรษฐกิจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ทำหน้าที่นำสิ่งที่เป็นผู้ผลิต หรือผู้ขาย หรือทั้งสองอย่างพร้อมกันก็ได้ โดยเป้าหมายหลักของหน่วยธุรกิจคือ การแสวงหากำไรสูงสุด
          1.3 หน่วยองค์กรรัฐบาล เป็นหน่วยเศรษฐกิจของรัฐหรือส่วนราชการต่าง ๆ ทำหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ควบคุม ดูแลการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละหน่วยเศรษฐกิจ เก็บภาษี สร้างปัจจัยขั้นพื้นฐาน ตัดสินข้อพิพาทต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เป็นผู้ผลิต และผู้บริโภคในคราวเดียวกัน  
ภาพที่ 7 ความสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยเศรษฐกิจกับระบบเศรษฐกิจ

2. ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจ
          2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยครัวเรือนกับหน่วยธุรกิจ

ภาพที่ 8 กระแสหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างหน่วยครัวเรือนกับหน่วยธุรกิจ

จากภาพที่ 8 วงจรกระแสหมุนเวียนด้านบน ครัวเรือนจะนำเอาปัจจัยการผลิตออกสู่ตลาดปัจจัยการผลิต เมื่อตลาดรับซื้อปัจจัยการผลิตนั้นแล้วก็จะจ่ายเงินให้กับครัวเรือนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร จากนั้นตลาดจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจเข้าครอบครองและใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านั้น โดยธุรกิจจะต้องจ่ายเงินให้กับตลาดปัจจัยการผลิต เรียกว่าค่าใช้จ่าย หรือต้นทุน
วงจรกระแสหมุนเวียนด้านล่าง เมื่อธุรกิจได้ปัจจัยการผลิตมาแล้วก็จะทำการผลิตสินค้าและบริการออกไปขายในตลาดสินค้าและบริการ ตลาดจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับหน่วยธุรกิจ จากนั้นตลาดก็จะนำสินค้าและบริการเหล่านั้นไปขายให้กับครัวเรือน ครัวเรือนจะจ่ายเงินให้ในรูปแบบค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ
2.2 ความสัมพันธ์เมื่อมีหน่วยรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง

ภาพที่ 9 กระแสหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีหน่วยรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง
ปรับปรุงจาก (จรินทร์ เทศวานิช, สุชาดา ตั้งทางธรรม และสุมนทิพย์ บุญสมบัติ, ม.ป.ป.)
          จากภาพที่ 9 บทบาทของรัฐบาลเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และเจ้าของปัจจัยการผลิต โดยรัฐบาลจะมีรายรับจากภาษีอากรและการขายสินค้าให้แก่ธุรกิจและครัวเรือน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะนำรายรับไปซื้อปัจจัยการผลิตในตลาดปัจจัยการผลิต เพื่อนำไปผลิตสินค้าและบริการที่หน่วยธุรกิจไม่ทำการผลิต เช่น ไฟฟ้า ประปา การขนส่งทางรถไฟ เป็นต้น รวมทั้งจะนำรายรับไปซื้อสินค้าและบริการเพื่อให้หน่วยราชการนำไปใช้สอย และในบางกรณีรัฐยังจ่ายเงินโอนให้ครัวเรือนและธุรกิจในกรณีเกิดปัญหา เช่น จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ การให้ทุนการศึกษา เป็นต้น
          ระบบเศรษฐกิจ (Economic System) หมายถึง กระบวนการทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความร่วมมือกันของมนุษย์ในการสร้างและใช้ทรัพยากรเพื่อสนองความต้องการระหว่างกันของสมาชิกในสังคมที่มีการปฏิบัติคล้ายคลึงกัน เนื่องจากประเทศต่าง ๆ มีรูปแบบการปกครอง จารีต ประเพณีที่แตกต่างกัน ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มีลักษณะแตกต่างกันไป แบ่งได้เป็น 3 ระบบ คือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบผสม

          3.1 ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism)
ระบบนี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (Free – Enterprise System) หรือระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market System) มีลักษณะสำคัญดังนี้
1) เอกชนเป็นเจ้าของ และมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน หรือปัจจัยการผลิตได้
2) ทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้อย่างอิสระตามความต้องการและความสามารถของแต่ละบุคคล
3) มีกำไรเป็นเครื่องจูงใจให้ผู้ผลิตทำการผลิตสินค้า ผู้ผลิตมีจุดมุ่งหมายในการผลิต คือ เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด หรือใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคได้อย่างเสรี และมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อแสวงหาความพอใจสูงสุด
4) การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการตัดสินใจแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจกระทำโดยผ่านกลไกราคา
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
1) เกิดแรงจูงใจในการผลิตและการทำงาน บุคคลใดมีความสามารถสูง สามารถผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้มาก ก็จะมีรายได้และกำไรมาก
2) เกิดการปรับปรุงเทคนิคการผลิตอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ผลิตแต่ละรายต้องแข่งขันกัน ทำให้คุณภาพของงานและสินค้าดีขึ้น
3) บุคคลในระบบเศรษฐกิจมีอิสระเสรีในการใช้ทรัพยากร หรือประกอบกิจการที่ไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพผู้อื่น
4) ผู้บริโภคสามารถบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นธรรมมากขึ้น
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
1) การกระจายรายได้ของประชาชนไม่เท่าเทียมกัน
2) ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอาจไม่เหมาะกับทุกสถานการณ์ ในบางครั้งรัฐต้องดำเนินการควบคุมราคา เช่น ในภาวะสงคราม
3) หากผู้ผลิตสินค้าและบริการมีน้อยราย อาจเกิดการผูกขาดราคาสินค้า เพราะรัฐบาลไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้
ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเกิดขึ้นมาอย่างช้านานและเป็นที่นิยมของประเทศในยุโรปตะวันตก และทวีอเมริกา โดยประเทศต่าง ๆ ให้เสรีถาพกับเอกชนในการผลิต ป้องกันการผูกขาด และให้มีการแข่งขันอย่างเต็มที่

          3.2 ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism)
ระบบเศรฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบที่ภาครัฐเป็นผู้วางแผนและตัดสินใจในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผู้ผลิตจะผลิตสินค้าตามนโยบายรัฐ ไม่ว่าจะผลิตอะไร (What) โดยวิธีการใด (How) และผลิต เพื่อใคร (For Whom) มีลักษณะสำคัญดังนี้
1) รัฐเข้าควบคุมธนาคาร อุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน และอุตสาหกรรมหนัก สาธารณูปโภค และเข้าไปจัดสวัสดิการให้กับประชาชน
2) ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย
3) รัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าและบริการ
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
     1) ประชาชนได้รับการดูแลด้านสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน
     2) รัฐบาลเข้าไปควบคุมกิจการบางอย่าง ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรและการกระจายรายได้ที่ดี
3) ไม่มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
     1) หากรัฐวางแผนและให้นโยบายที่ไม่ดี จะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาดหรือไม่เกิดประโยชน์สูงสุด
     2) ประชาชนไม่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการทำธุรกิจที่ตนเองมีความรู้ความสามารถหรือต้องการทำ
     3) ขาดแรงจูงใจในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการผลิต
ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่ในหลายประเทศที่มีพื้นฐานทางด้านการเมืองการปกครองแบบสังคมนิยม เช่น รัสเซีย ลาว เวียดนาม เป็นต้น แต่ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ เหล่านี้เกิดการปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยให้เอกชนทั้งนักธุรกิจในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในบางกิจการได้

3.3 ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
เป็นระบบเศรษฐกิจที่ผสมกันระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยม เอกชนและรัฐบาลสามารถดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจได้ มีลักษณะสำคัญคือ
1) เอกชนและรัฐบาลสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือปัจจัยการผลิตขนาดใหญ่หรือขนาดย่อม หรือเป็นเจ้าของร่วมกันได้
2) รัฐบาลจะเข้าควบคุมกิจกรรมพื้นฐานที่สำคัญ เช่น การไฟฟ้า การประปา การคมนาคมขนส่ง การรถไฟ เป็นต้น
3) ใช้กลไกราคาควบคู่กับการวางแผนจากส่วนกลางในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
     1) มีความคล่องตัวในการดำเนินการ เพราะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของสภาพเศรษฐกิจได้
     2) รายได้ถูกนำมาเฉลี่ยให้ผู้ทำงานตามกำลังความสามารถที่กระทำได้ มิใช่ตามความจำเป็น แรงจูงใจในการทำงานของประชาชนจึงดีกว่า
3) เอกชนมีบทบาททางเศรษฐกิจ มีการแข่งขันผลิตสินค้า สินค้าจึงมีคุณภาพ และประชาชนสามารถเลือกบริโภคได้
4) เอกชนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐ ทั้งระบบสาธารณูปโภค การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการพื้นฐาน
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
     1) กำลังใจหรือแรงจูงใจสำหรับเอกชนมีไม่มากพอ เพราะเอกชนมองว่าต้องเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของนโยบายจากรัฐบาล
     2) รัฐเข้ามามีบทบาทในการวางแผนเพียงบางส่วนเท่านั้น จึงอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในกรณีต้องการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจให้รวดเร็วตามเป้าหมายที่ต้องการ
     3) การบริหารงานของรัฐที่ผูกขาดในกิจการบางประเภทยังขาดประสิทธิภาพ
ปัจจุบันประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ส่วนมากจะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสม เช่น ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยมีการวางแผนเศรษฐกิจเพื่อประสานนโยบายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติ

ภาพที่ 10 ตัวอย่างประเทศที่ดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจตามระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ
(ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

3. ตลาดในระบบเศรษฐกิจ

บทที่ 3 ตลาดระบบเศรษฐกิจ พิพัฒน์ คุณวงค์         ตลาดโดยทั่วไป หมายถึง สถานที่ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการ แต่ตลาดในทางเ...