วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563

3. ตลาดในระบบเศรษฐกิจ


บทที่ 3
ตลาดระบบเศรษฐกิจ
พิพัฒน์ คุณวงค์

        ตลาดโดยทั่วไป หมายถึง สถานที่ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการ แต่ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง กิจกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยไม่คำนึงว่าจะต้องใช้สถานที่ใด ๆ อาจซื้อขายผ่านจดหมาย ระบบโทรคมนาคม หรือผ่านทางออนไลน์ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพบปะกันโดยตรง


      ตลาดสามารถจำแนกได้หลายลักษณะ เช่น ตามลักษณะการขายสินค้า (ตลาดขายส่ง, ตลาดขายปลีก) ตามลักษณะสินค้าที่ผลิต (สินค้าอุตสาหกรรม, สินค้าเกษตร, ภาคการบริการ) ตามวัตถุประสงค์ของการใช้สินค้า (ตลาดผู้บริโภค, ตลาดปัจจัยการผลิต, ตลาดการเงิน)
          แต่ในทางเศรษฐศาสตร์สามารถจำแนกประเภทตลาดได้ 2 ประเภทคือ
1) ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition)
2) ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfect Competition)
     2.1) ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition)
     2.2) ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly)
     2.3) ตลาดผูกขาด (Monopoly)

          4.1 ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition)
ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเต็มที่ในระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งราคาสินค้าในตลาดจะไม่ขึ้นกับอิทธิพลของผู้ใด แต่จะขึ้นกับกลไกของตลาด โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
               1) มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก 
               2) ราคาสินค้ามีราคาเดียว
               3) สินค้าที่ซื้อขายมีลักษณะเหมือนกันทุกประการในสายตาผู้ซื้อ
               4) ผู้ซื้อและผู้ขายมีความรอบรู้ในข้อมูลข่าวสารของตลาดเป็นอย่างดี
               5) การเข้าหรือออกจากอุตสาหกรรม และการโยกย้ายปัจจัยการผลิตทำได้โดยเสรี


ตลาดประเภทนี้หาได้ยากในระบบเศรษฐกิจ แต่ก็มีตลาดที่ใกล้เคียง เช่น ตลาดสินค้าเกษตร เป็นต้น แต่ก็ยังไม่เป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์โดยแท้จริง

4.2 ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfect Competition)
ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1) จำนวนผู้ซื้อและผู้ขายมากพออันส่งผลให้มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า
2) สินค้าที่ซื้อขายมีลักษณะไม่เหมือนกันในสายตาผู้ซื้อ
3) ความรอบรู้ในข้อมูลข่าวสารของตลาดมีจำกัด
          4) การเข้าหรือออกจากอุตสาหกรรมทำได้ยาก อาจเกิดจากข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย การครอบครอบครองปัจจัยการผลิต เงินทุน หรือเทคโนโลยี  เป็นต้น
          5) การโยกย้ายปัจจัยการผลิตไม่ได้เป็นไปโดยเสรี
4.2.1) ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition)
ตลาดแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เป็นตลาดที่มีผู้ขายจำนวนหลายราย  ทำการผลิตสินค้าที่ไม่เหมือนกันแต่สามารถใช้ทดแทนกันได้ ผู้ผลิตรายอื่นสามารถเข้ามาผลิตแข่งขันได้ ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ทราบข้อมูลข่าวสารของตลาดอย่างสมบูรณ์ ตัวอย่างตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด เช่น ตลาดผงซักฟอก ยาสีฟัน แป้ง เสื้อผ้า
4.2.2) ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly)
ตลาดผู้ขายน้อยราย เป็นตลาดที่มีผู้ขายเพียงไม่กี่ราย ทำการผลิตสินค้าไม่เหมือนกันแต่สามารถใช้ทดแทนกันได้บ้าง ผู้ขายจะไม่ใช้ราคาเป็นเครื่องมือในการแข่งขัน เนื่องจากมีผู้ขายจำนวนน้อย          หากฝ่ายหนึ่งลดราคา อีกฝ่ายต้องลดราคาตาม และหากอีกฝ่ายขึ้นราคา อีกฝ่ายจะไม่ขึ้นราคาตาม ซึ่งการดำเนินการใด ๆ ของผู้ผลิตรายหนึ่งย่อมกระทบกับผู้ผลิตรายอื่นเสมอ จึงต้องใช้การแข่งขันในวิธีอื่น เช่น คุณภาพสินค้า การโฆษณา ความแตกต่างในการบรรจุหีบห่อ ตัวอย่างตลาดผู้ขายน้อยราย เช่น ตลาดน้ำอัดลม รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ปูนซีเมนต์ เครือข่ายโทรศัพท์
4.2.3) ตลาดผูกขาด (Monopoly)
ตลาดผูกขาด เป็นตลาดที่มีหน่วยธุรกิจเพียงรายเดียวทำการผลิตสินค้า โดยไม่มีสินค้าอื่นใดทดแทนสินค้าชนิดนั้นได้ และผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ การผูกขาดอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
1) กฎหมายให้อำนาจรัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการเพียงรายเดียว
2) การได้สัมปทานจากรัฐบาล
3) การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแต่เพียงผู้เดียว
4) การลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นอุปสรรคและเป็นการปิดกั้นคู่แข่ง
ตัวอย่างตลาดผูกขาด เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา รถไฟ สินค้าที่ลงทุนมหาศาล

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบลักษณะตลาดประเภทต่าง ๆ
ลักษณะ
ตลาดแข่งขันสมบูรณ์
ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์
ตลาดกึ่งแข่งขันฯ
ตลาดผู้ขายน้อยราย
ตลาดผูกขาด
1. จำนวนผู้ขาย
จำนวนมากมาย
จำนวนมาก
จำนวนน้อย
รายเดียว
2. ลักษณะสินค้า
เหมือนกันทุกประการ
แตกต่างกันแต่ใช้แทนกันได้
แตกต่างกันบ้างแต่ใช้แทนกันได้
ใช้แทนกันไม่ได้หรือได้น้อย
3. อำนาจในการกำหนดราคา
เป็นไปตามกลไกตลาด
มีพอสมควร แต่ต้องดูคู่แข่งด้วย
มีมาก แต่ต้องคาดการณ์การตอบโต้ของคู่แข่ง
มีอำนาจในการกำหนดราคาเต็มที่
4. การเข้าสู่ตลาดของผู้ขายรายใหม่
ง่ายมาก
ง่าย
ค่อนข้างยาก
ยากมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

3. ตลาดในระบบเศรษฐกิจ

บทที่ 3 ตลาดระบบเศรษฐกิจ พิพัฒน์ คุณวงค์         ตลาดโดยทั่วไป หมายถึง สถานที่ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการ แต่ตลาดในทางเ...