วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563

1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์


บทที่ 1
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์
พิพัฒน์  คุณวงค์

             เศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาแขนงหนึ่งทางสังคมศาสตร์ ก่อตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีสถานภาพเป็น “ศาสตร์” นับตั้งแต่มีการตีพิมพ์ตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของโลกในปีค.ศ. 1776 คือ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations หรือเรียกสั้น ๆ ว่า The Wealth of Nations (ความมั่นคงของชาติ)  โดยอดัม สมิธ (Adam Smith) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ในระดับสากล นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงได้กำเนิดวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่พัฒนาและขยายตัวขึ้น จนกระทั่งเกือบจะกล่าวได้ว่าไม่มีพฤติกรรมใดหรือการกระทำใดของมนุษย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์

1. ความหมายของเศรษฐศาสตร์
         เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์และสังคม ในการเลือกใช้วิธีการในการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการและหาหนทางที่จะจำแนกแจกจ่ายสินค้าและบริการไปยังประชาชนในสังคม เพื่อให้มีการอยู่ดีกินดี และมีความเป็นธรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต หรือสรุปได้ว่า เศรษฐศาสตร์ เป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

         จากความหมายของเศรษฐศาสตร์ จะเน้นในเรื่องการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นการขาดแคลนของทรัพยากรซึ่งเป็นเรื่องที่นำไปเปรียบเทียบกับความต้องการของมนุษย์ กล่าวคือ “ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด แต่จำนวนทรัพยากรที่จะนำมาผลิตสินค้าและบริการนั้นมีอยู่อย่างจำกัด” จึงเป็นหน้าที่ของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่จะเข้าไปจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ให้มากที่สุด
ภาพที่ 1 ความต้องการของมนุษย์ที่ไม่จำกัด นำมาซึ่งการขาดแคลนทรัพยากร จึงเกิดการจัดสรรหรือการเลือกใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สงสุด ปรับปรุงจาก (มงคล ดอนขวา และมณฑา ชุ่มสุคนธ์, ม.ป.ป.).


โดยสรุปแล้วเศรษฐศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้

          1) การเลือก (Choices) เกิดขึ้นเพราะทรัพยากรต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์หลายทาง และจากความไม่สมดุลระหว่างความต้องการที่ไม่จำกัดกับทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ทำให้ไม่สามารถสนองความต้องการที่มีไม่จำกัดได้ บุคคล กลุ่มบุคคล สังคมหรือประเทศจึงต้องเลือกใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์หรือประสิทธิภาพสูงสุด
          2) ทรัพยากรการผลิต (Productive Resource) เป็นปัจจัยที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
2.1) ที่ดิน (Land) ได้แก่ผืนแผ่นดินและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ สัตว์น้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้นแต่สามารถปรับปรุงคุณภาพของทรัพยากรได้บ้าง โดยผลตอบแทนจากการใช้ที่ดินเรียกว่า “ค่าเช่า”
2.2) แรงงาน (Labor) ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ความสามารถทางกำลังกายและสติปัญญา ความรู้ของมนุษย์ที่นำไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยผลตอบแทนของแรงงานเรียกว่า “ค่าจ้าง”
2.3) ทุน (Capital) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ เช่น เครื่องจักร อาคาร โดยผลตอบแทนของทุนเรียกว่า “ดอกเบี้ย”
2.4) ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เป็นผู้ที่รวบรวมปัจจัยการผลิตทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมา เพื่อทำการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยผลตอบแทนของผู้ประกอบการเรียกว่า “กำไร”

ภาพที่ 2 ทรัพยากรการผลิตและผลตอบแทนที่ได้จากการใช้

3) สินค้าและบริการ (Goods and Service) เป็นสิ่งที่ได้จากการทำงานร่วมกันของปัจจัยการผลิต เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
3.1) เศรษฐทรัพย์ (Economics Goods) คือ สินค้าที่มีต้นทุนในการผลิต แบ่งได้ดังนี้
     3.1.1) สินค้าเอกชน คือสินค้าที่แยกการบริโภคออกจากกันได้ และสามารถกีดกันผู้บริโภครายอื่นได้ เช่น นายน้อยเป็นเจ้าของรถยนต์ สามารถกีดกันไม่ให้ผู้อื่นใช้รถของตนเองได้
     3.1.2) สินค้าสาธารณะ คือ สินค้าที่บริโภคร่วมกัน และไม่สามารถกีดกันบุคคลอื่นในการบริโภคได้ เช่น ถนนสาธารณะ โรงพยาบาล การจัดการศึกษาของรัฐบาล
3.2) สินค้าไร้ราคา (Free Goods) คือ สินค้าและบริการที่ไม่มีต้นทุน ไม่มีราคาที่ต้องจ่าย เช่น แสงแดด สายลม อากาศ น้ำฝน
          4) ความต้องการของมนุษย์ที่ไม่จำกัด (Unlimited Wanted) มนุษย์โดยทั่วไปมีความต้องการใช้สินค้าและบริการที่ไม่จำกัด ไม่เพียงพอ หรือไม่มีสิ้นสุด ตั้งแต่สินค้าและบริการที่จำเป็น สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดทั้งชื่อเสียงเกียรติยศ
          5) ประสิทธิภาพ (Efficiency) คือ การใช้ทรัพยากรหรือปัจจัยในการผลิตของหน่วยผลิตหรือหน่วยบริโภค โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรหรือปัจจัยในการผลิตที่มีอยู่จำกัด ให้ประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้
2. ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์
          เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน เพราะทุกคนต้องอาศัยปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ตลอดทั้งน้ำอุปโภคบริโภค และการที่จะได้มาซึ่งสิ่งของ    ต่าง ๆ เหล่านี้ จะต้องมีรายได้จากการทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมาใช้ตอบสนองความต้องการของเรา ซึ่งปัญหาก็คือเราจะทำงานอะไร หาเงินได้อย่างไร และใช้เงินอย่างไรในการตอบสนองความต้องการของเราได้ดีที่สุด การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทุกคนเผชิญได้อย่างมีเหตุผล โดยความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์สามารถสรุปได้ดังนี้
          2.1 ช่วยในการตัดสินใจของประชาชน  เศรษฐศาสตร์มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับบุคคล และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากที่สุด โดยบุคคลจะต้องพยายามหาคำตอบจากปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ อยู่เสมอ
2.2 ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ  ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจในการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐ เช่น ทำไมรัฐบาลต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อประชาชนเกิดความเข้าใจ ก็ย่อมจะให้ความร่วมมือ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้นโยบายของรัฐประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี
2.3 ช่วยสร้างองค์ความรู้ในการบริหารงาน  ผู้บริหารระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับหน่วยธุรกิจ หรือระดับประเทศ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะช่วยในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยให้ผู้บริหารงานในภาครัฐและเอกชนสามารถตัดสินใจได้อย่างมีหลักเกณฑ์และเหตุผล โดยเฉพาะการบริหารธุรกิจของภาคเอกชนที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ การแสวงหากำไรจากธุรกิจนั้น ๆ โดยการบริหารจัดการต้นทุนให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ซึ่งความรู้ทางวิชาเศรษฐศาสตร์จะช่วยในการบริหารรายรับและต้นทุนได้อย่างเหมาะสม
2.4 ช่วยสร้างผลประโยชน์ให้เกิดกับประเทศชาติ  ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของชาติในเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเปิดเสรีทางการค้าอย่างกว้างขวาง ความเข้าใจเรื่องการค้า การลงทุนจะช่วยให้มีการวางแผนเศรษฐกิจและการค้ากับต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศชาติก็จะได้รับประโยชน์ ประชาชนจะมีงานทำ มีรายได้สูงขึ้น และช่วยให้มาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นตามไปด้วย
3. ขอบข่ายของวิชาเศรษฐศาสตร์
          ขอบข่ายของวิชาเศรษฐศาสตร์สามารถจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ จำแนกวิชาตามเนื้อหาวิชา และจำแนกตามการวิเคราะห์ปัญหา ดังนี้
          3.1 จำแนกตามเนื้อหาวิชา สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
3.1.1 เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคล ครัวเรือน เป็นการศึกษาเฉพาะส่วนย่อย ๆ ในระยะเวลาหนึ่ง ๆ เศรษฐศาสตร์จุลภาคถือเป็นแนวทางหลักในการวิเคราะห์เศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้เศรษฐศาสตร์จุลภาคยังวิเคราะห์ถึงโครงสร้างของตลาด เช่น ตลาดแข่งขันสมบูรณ์และตลาดผูกขาด เพื่อทราบถึงพฤติกรรมและประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ
3.1.2 เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับรวมหรือในระดับประเทศ เช่น รายได้ประชาชาติ อัตราการจ้างงาน การธนาคาร การคลัง เศรษฐศาสตร์               มหภาคนั้นจะพิจารณาระบบเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ยังคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อระดับความเติบโตในระยะยาวของรายได้ประชาชาติ อันได้แก่ การสะสมทุน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการขยายตัวของกำลังแรงงาน
3.2 จำแนกตามการวิเคราะห์ปัญหา สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
3.2.1 เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ หรือเศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริง (Positive Economics) เป็นการมุ่งอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น เรื่องที่เป็นอยู่ และเรื่องที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร จากผลที่บุคคลหรือสังคมตัดสินใจเลือกการกระทำใดการกระทำหนึ่งลงไป นั่นคือการแสดงถึงความสัมพันธ์ของสาเหตุกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพฤติกรรม
3.2.2 เศรษฐศาสตร์นโยบาย หรือเศรษฐศาสตร์ตามที่ควรจะเป็น (Normative of Policy) เป็นการมุ่งกล่าวถึงสิ่งที่ควรจะมีหรือสิ่งที่ควรจะเป็น โดยอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ก็ได้ 
4. เป้าหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์
        4.1 เป้าหมายต่อผู้บริโภค ช่วยทำให้ผู้บริโภครู้จักการตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการบริโภคและใช้ในทางที่ดีที่สุด เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และสามารถปรับตัวได้ภายใต้ความผันผวนทางเศรษฐกิจ
        4.2 เป้าหมายต่อผู้ผลิต ช่วยทำให้ผู้ผลิตมีความรู้ความสามารถในการวางแผนการผลิต การพยากรณ์การผลิตเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ปัจจัยการผลิต เพื่อจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดและสามารถแข่งขันกับธุรกิจอื่น ๆ ได้
        4.3 เป้าหมายต่อองค์กรของรัฐ ช่วยให้ผู้บริหารในองค์กรของรัฐมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม มีความสามารถในการวางนโยบายเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รู้จักใช้นโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ 
5. ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์
         ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่ไม่จำกัด แต่ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นมีอยู่จำกัด จึงเกิดปัญหาในการเลือกใช้และจัดสรรแบ่งทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด จึงเกิดปัญหาพื้นฐาน 3 ประการ ดังนี้
5.1 ผลิตอะไร (What) คือ จะผลิตสินค้าและบริการอะไร ปริมาณเท่าไหร่ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน จึงจะเพียงพอแก่การบริโภค

ภาพที่ 3 ปัญหาการผลิต ผลิตอะไร
(ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2555)

          5.2 ผลิตอย่างไร (How) คือ การนำปัจจัยการผลิตที่มีมาผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คือต้นทุนต่ำแต่ได้ผลผลิตสูง

ภาพที่ 4 ปัญหาการผลิต ผลิตอย่างไร
(ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2555)

          5.3 ผลิตเพื่อใคร (For Whom) คือ เมื่อผลิตสินค้าและบริการแล้วจะสนองความต้องการของใคร หรือจัดสรรทรัพยากรแก่ใครบ้าง


ภาพที่ 5 ปัญหาการผลิต ผลิตเพื่อใคร
(ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2555)

          ปัญหาพื้นฐานทั้งสามนี้จัดว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจร่วมกันทุกสังคม และทุกระบบเศรษฐกิจมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่การแก้ปัญหานั้นมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

3. ตลาดในระบบเศรษฐกิจ

บทที่ 3 ตลาดระบบเศรษฐกิจ พิพัฒน์ คุณวงค์         ตลาดโดยทั่วไป หมายถึง สถานที่ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการ แต่ตลาดในทางเ...